วันนี้เรามาเพาะลูกน้ำกันแบบง่ายๆ กันดีกว่านะครับ
วิธีการเพาะเลี้ยงลูกน้ำที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงลูกน้ำของยุงรำคาญแบบง่ายๆที่ไม่ต้องใช้เนื้อที่มากมายนัก แต่ให้ผลผลิตของลูกน้ำมากพอสมควร ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมบ่อวางไข่
ใช้กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 – 75 เซนติเมตร ใส่น้ำประมาณครึ่งกะละมัง จากนั้นใช้เปลือกแตงโม เปลือกขนุน เปลือกมะละกอ หรือฟางข้าว ใส่ลงไปหมักเพื่อให้เกิดกลิ่นเหม็นล่อให้ยุงมาวางไข่ หมักไว้ 2-3 วัน แล้วใช้แผ่นพลาสติกปิดให้มีช่องพอที่ยุงจะเข้าไปวางไข่ได้ เพราะยุงรำคาญจะชอบวางไข่ในน้ำที่มีกลิ่นเหม็นและค่อนข้างมืด (ถึงแม้จะไม่ใช้แผ่นพลาสติกปิดปากกะละมังก็จะมียุงมาวางไข่ แต่จะไม่มากนัก)
.


ภาพที่ 2 กะละมังหมักฟางประมาณ 3 วัน น้ำจะเป็นสีน้ำตาล ( ภาพซ้าย ) แล้วใช้แผ่นพลาสติกปิดในตอนเย็น
เพื่อล่อยุงเข้าไปวางไข่ตอนใกล้รุ่ง ( ภาพขวา )
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมแพไข่ของยุง
เช้าวันต่อมาจึงเปิดแผ่นพลาสติกแล้วสังเกตที่ผิวน้ำบริเวณฟาง จะเห็นไข่ยุงเป็นแพสีดำรูปวงรีขนาดเล็ก มีความกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร ปกติยุงจะเข้าไปวางไข่ตอนใกล้รุ่ง แพไข่ของยุงที่วางออกมาใหม่ๆเป็นสีขาวนวลแล้วจะค่อยๆมีสีคล้ำขึ้นจนเป็นสีดำในเวลา 20 – 30 นาที แพไข่แต่ละแพจะมีไข่ประมาณ 50– 250 ฟอง ขึ้นกับอายุและความสมบูรณ์ของยุง คือยุงที่เริ่มวางไข่ครั้งแรกๆแพไข่จะเล็ก เมื่อวางไข่ครั้งต่อๆไปแพไข่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและถ้าได้กินอาหารสมบูรณ์ คือได้ดูดเลือดเต็มที่แพไข่จะค่อนข้างยาวมาก ช้อนเอาแพไข่ทั้งหมดไปฟักในกะละมังเพื่อเลี้ยงในขั้นตอนต่อไป บ่อวางไข่ที่เตรียม 1 บ่อ(กะละมัง)จะรวบรวมไข่ยุงได้วันละ ประมาณ 50 – 200 แพ
.
ภาพที่ 3 แพไข่ของยุงที่วางออกมาใหม่ๆจะเป็นสีขาวนวล ( ในกรอบวงกลม )
กับแพไข่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำ ( ในกรอบสี่เหลี่ยม )
.

ภาพที่ 4 แพไข่ของยุงที่รวบรวมมาจากบ่อวางไข่
.
ขั้นตอนที่ 3 การเลี้ยงลูกน้ำ
เตรียมกะละมังสำหรับเลี้ยงลูกน้ำไว้ 5 – 7 ใบ ( ต่อชุด ) แต่ละใบจะใช้สำหรับฟักและเลี้ยงลูกน้ำจากไข่ที่รวบรวมได้ในแต่ละวัน เพราะตัวอ่อนของยุงที่อยู่ในระยะลูกน้ำจะมีอายุอยู่ประมาณ 5 – 7 วันขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะดักแด้เพื่อเปลี่ยนไปเป็นยุง ในช่วงอายุ 5 – 7 วันนี้ลูกน้ำจะกินอาหารเก่ง พร้อมทั้งมีการลอกคราบไปด้วย หากอาหารไม่เพียงพอลูกน้ำจะจับกินกันเอง อาหารที่จะใช้เลี้ยงลูกน้ำจึงควรเป็นอาหารที่มีการกระจายตัวดี ควรใช้หัวอาหารสัตว์ที่เป็นอาหารผง ได้แก่อาหารไก่ อาหารหมู หรืออาหารเป็ดไข่ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ โรยให้บริเวณผิวน้ำวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและเย็น ให้อาหารมากเกินพอโดยไม่ต้องระวังเรื่องน้ำเน่า หรือปริมาณออกซิเจนในน้ำจะไม่เพียงพอ เพราะลูกน้ำจะขึ้นมาหายใจบริเวณที่ผิวน้ำ ลูกน้ำจะตอดกินอาหารผง ส่วนอาหารที่เหลือจะเน่าทำให้เกิดแบคทีเรีย ซึ่งลูกน้ำก็จะสามารถกินแบคทีเรียเป็นอาหารได้ดี สามารถสังเกตจากสีของน้ำในกะละมังเลี้ยงได้ คือ ถ้าในวันที่ 3 – 4 น้ำในกะละมังเริ่มมีสีเขียวแสดงว่ามีอาหารมากพอ แต่ถ้าน้ำยังใสเหมือนในกะละมังวันที่ 1– 2 แสดงว่าให้อาหารน้อยไป อาหารไม่เพียงพอ ควรเพิ่มอาหาร
.

ภาพที่ 5 กะละมังที่ใช้เลี้ยงลูกน้ำ หมายเลข 1 – 5 คือ เริ่มจากอายุ 1 วัน ถึงอายุ 5 วัน
จะสังเกตได้ว่าสีของน้ำในกะละมังจะเขียวมากขึ้นตามจำนวนวันที่เพิ่มขึ้น
ขั้นตอนที่ 4 การเก็บเกี่ยวลูกน้ำ
ลูกน้ำที่เลี้ยงได้ 5 – 7 วันจะมีขนาดโตเต็มที่เหมาะสมที่จะนำไปเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆต่อไป และมีลูกน้ำบางส่วนเปลี่ยนเข้าสู่ระยะตัวโม่ง แต่ปลาทุกชนิดก็ยังชอบกินเหมือนเดิม ควรทำการเก็บเกี่ยวโดย
4.1 เคาะกะละมังหรือรบกวนให้ลูกน้ำตกใจ ลูกน้ำจะหนีลงไปอยู่ก้นกะละมัง ใช้กระชอนช้อนเศษอาหารและสิ่งสกปรกต่างๆที่ผิวน้ำออก
4.2 ทำตาม 4.1 อีก 1 – 2 ครั้ง ที่บริเวณผิวน้ำจะสะอาด
4.3 รอให้ลูกน้ำกลับขึ้นมาที่ผิวน้ำ ใช้กระชอนช้อนจะได้ลูกน้ำที่สะอาด ปราศจากเศษอาหารและสิ่งสกปรกต่างๆ
4.4 นำลูกน้ำที่ได้ไปปล่อยในน้ำใหม่ในกะละมังขนาดเล็ก ทิ้งไว้ 10 – 15 นาที ลูกน้ำจะถ่ายกากอาหารในตัวออก ใช้กระชอนที่มีช่องตาประมาณ 1 มิลลิเมตร ช้อนลูกน้ำออกมาก็จะได้ลูกน้ำที่สะอาดพร้อมที่จะนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆได้อย่างปลอดภัย
.

ภาพที่ 6 ลูกน้ำที่ขึ้นมาผิวน้ำตามขอบกะละมังเลี้ยง และเศษอาหารที่เหลือ ( ในกรอบวงกลม )
.

ภาพที่ 7 ลูกน้ำสะอาดที่รวบรวมได้จากจำนวนไข่ 50 - 70 แพ พร้อมที่จะนำไปใช้เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆได้อย่างปลอดภัย
.
ขั้นตอนที่ 5 การเปลี่ยนฟางหรือวัสดุที่ใช้ในบ่อวางไข่
วัสดุที่ใช้ในบ่อวางไข่ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกแตงโม เปลือกขนุน เปลือกมะละกอ หรือฟางข้าว ที่ใส่ลงไปหมักเพื่อให้เกิดกลิ่นล่อให้ยุงมาวางไข่นั้น จะเน่าอยู่ประมาณ 7 – 10 วัน จากนั้นการเน่าจะลดลง ซึ่งจะมีผลทำให้ยุงมาวางไข่น้อยลงด้วย จะต้องเปลี่ยนวัสดุใหม่ โดย
5.1 ช้อนวัสดุเก่าออก
5.2 กวนน้ำแล้วตักทิ้งไปประมาณครึ่งหนึ่ง
5.3 เติมน้ำใหม่ให้ได้ระดับเดิม แล้วนำวัสดุทีจะใช้หมักใส่ลงไปเหมือนขั้นตอนที่ 1 แต่ไม่ต้องเสียเวลารอ 2 – 3 วัน เพราะน้ำเก่าที่เหลืออยู่จะยังพอมีกลิ่นและช่วยให้วัสดุที่ใส่ลงไปเน่าได้เร็วขึ้น
ดำเนินการตามขั้นตอนที่ 1 – 5 ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีลูกน้ำปริมาณมากพอควรไว้สำหรับเลี้ยงปลาสวยงามหรือสัตว์น้ำต่างๆได้ทุกวัน หากต้องการปริมาณลูกน้ำมากขึ้นก็เพิ่มจำนวนบ่อวางไข่และบ่อเลี้ยงมากขึ้น
.
.
ภาพที่ 8 กะละมังที่ใช้เป็นบ่อวางไข่และบ่อเลี้ยงลูกน้ำ ต่อ 1 ชุด
ข้อดีของการเพาะเลี้ยงลูกน้ำใช้เอง 
1. ใช้พื้นที่ไม่มาก สามารถทำได้แทบทุกครัวเรือน
2. ใช้เงินทุนในการเตรียมภาชนะเลี้ยงไม่มาก และสามารถใช้ได้นานหลายปี ทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายได้ง่าย
3. วัสดุที่ใช้ในบ่อวางไข่ สามารถเลือกใช้ได้หลายอย่างขึ้นกับความสะดวกของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเปลือกแตงโม เปลือกขนุน
เปลือกมะละกอ หรือฟางข้าว ต้องการหมักให้เน่าเพื่อให้เกิดกลิ่นล่อให้ยุงมาวางไข่เท่านั้น
4. สามารถผลิตลูกน้ำได้มากพอควรและมีอย่างต่อเนื่องทุกวัน เหมาะสำหรับผู้เลี้ยงปลาสวยงามเป็นอาชีพซึ่งในแต่ละวันจะ
ต้องการอาหารมีชีวิตค่อนข้างมาก
5. ลูกน้ำที่ได้จะมีความสะอาด ปราศจากโรคและปรสิตที่จะมาทำอันตรายต่อปลาที่เลี้ยงได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
6. ลูกน้ำที่ได้สามารถใช้ในการอนุบาลลูกปลาได้ เพราะลูกน้ำที่ฟักตัวในวันแรกจะมีขนาดค่อนข้างเล็กมากใช้เลี้ยงลูกปลาเกิด
ใหม่บางชนิดได้ดี เช่น ปลาทอง ปลาเทวดา และปลาออสการ์
ข้อควรพิจารณา 
1. การเพาะเลี้ยงลูกน้ำตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมานี้จะสามารถช่วยลดปริมาณยุงในธรรมชาติลงได้ เนื่องจากเป็นวิธีการล่อให้ยุงที่มีความสมบูรณ์และกำลังต้องการที่วางไข่ได้ลงมาไข่ในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งจากการที่ได้จัดวางกะละมังล่อยุงให้มาวางไข่ไว้ 2 ชุด เพื่อนำลูกน้ำไปเลี้ยงปลากัด เป็นเวลา 4-5 ปี สามารถเก็บไข่ยุงได้ทุกวันๆละ 50-200 แพ คิดเป็นจำนวนลูกน้ำ หรือตัวยุง เท่ากับ 2,500-10,000 ตัว พบว่าปริมาณยุงในบริเวณรอบบ้านลดลง สังเกตุได้จากในตอนรุ่งเช้ามียุงที่บินรออยู่หน้าประตูบ้านลดลง และแทบจะไม่มียุงที่บินเข้าไปเกาะซ่อนตัวอยู่ในรองเท้า
2. เกษตรกรที่อยู่ในชนบทมักมีสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย สุกร สุนัข หรือไก่บ้าน ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะถูกยุงกัดในเวลากลางคืนได้ง่าย ทำให้มียุงเพศเมียที่มีความสมบูรณ์สามารถวางไข่ได้จำนวนมากมาย และสามารถหาแหล่งน้ำวางไข่ได้ง่าย หากสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาสวยงาม และเข้าใจวิธีการเพาะเลี้ยงลูกน้ำตามขั้นตอนดังกล่าว ก็จะช่วยกำจัดยุงบางส่วนได้ด้วย
3. ผู้เพาะเลี้ยงลูกน้ำจะต้องมีจิตสำนึกในการช่วยลดปัญหาในเรื่องการแพร่กระจายของยุง โดยจะต้องไม่ให้วิธีการเลี้ยงดังกล่าวไปทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณยุงในธรรมชาติ คือไม่ควรเลี้ยงยุงให้มีอายุเกิน 5 วันในฤดูร้อน และ 7 วันในฤดูหนาว เพื่อไม่ให้ยุงเข้าสู่ระยะดักแด้ซึ่งอาจสามารถลอกคราบไปเป็นยุงได้ ก็จะเป็นการช่วยลดปริมาณยุงได้อย่างแท้จริง
4. นักวิชาการส่วนใหญ่มักคิดว่าการเพาะเลี้ยงลูกน้ำดังกล่าว อาจทำให้มีการวางไข่ของยุงลายด้วย ซึ่งในความเป็นจริงวิธีการดังกล่าวไม่มีส่วนที่จะเพิ่มแหล่งวางไข่ของยุงลาย เพราะยุงลายจะไม่วางไข่ในน้ำที่มีกลิ่นเหม็น ยุงลายจะเลือกวางไข่ในแล่งน้ำที่ค่อนข้างใส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น